"ผักลืมผัว" พืชพื้นบ้านอีสานที่บานสะพรั่งในฤดูเก็บเกี่ยว
🪻
ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ทุ่งนาทั่วภาคอีสาน โดยเฉพาะบริเวณที่เคยเป็นป่าเต็งรัง กำลังถูกประดับประดาด้วยดอกสีม่วงของ "ผักลืมผัว" (𝘓𝘰𝘣𝘦𝘭𝘪𝘢 𝘵𝘩𝘰𝘳𝘦𝘭𝘪𝘪 𝘌.𝘞𝘪𝘮𝘮.) พืชในวงศ์ Campanulaceae ที่บานสะพรั่งเต็มท้องทุ่ง โดยมักพบขึ้นปะปนกับกระดุมเงิน ผักกะแยง กระถินนา และปอผี
🪻
#ผักลืมผัว
เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-20 เซนติเมตร มีใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปร่างรีกว้าง และดอกสีม่วงสวยงาม พืชชนิดนี้ชอบขึ้นในพื้นที่ชื้น บริเวณที่ลุ่ม ท้องนา ไร่อ้อย และบนเขาเตี้ยๆ ที่ระดับความสูง 130-300 เมตร ในประเทศไทยพบเฉพาะในภาคอีสาน และยังพบในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา
นอกจากความสวยงามแล้ว ผักลืมผัวยังเป็นผักพื้นบ้านที่ชาวอีสานนิยมนำมารับประทาน ทั้งการกินสดคู่กับลาบ น้ำพริก นำไปใส่แกงเผ็ด หรือนำมาประกอบอาหารด้วยการผัดหรือเจียวกับไข่ สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากพืชพื้นบ้านของชาวอีสาน
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
0 ความคิดเห็น